พัฒนาการของกลอน

พัฒนาการด้านรูปแบบ
ในสมัยอยุธยากลอนเพลงยาว และกลอนบทละครยังครองความนิยมด้วยจำนวนคำ และการส่ง-รับสัมผัสไม่เคร่งครัดนัก จนกระทั่งหลวงศรีปรีชาได้ริเริ่มประดิษฐ์กลอนที่มีจำนวนคำเท่ากันทุกวรรคขึ้น และประสบความสำเร็จสูงสุดในสมัยสุนทรภู่ ก่อให้เกิดการจำแนกกลอนออกเป็น 2 ประเภทคือ กลอนสุภาพ ที่มีจำนวนคำเท่ากันทุกวรรค และกลอยที่กำหนดจำนวนคำในวรรคโดยประมาณ เช่น กลอนเพลงยาว กลอนบทละคร กลอนเสภา เป็นต้น
ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) กลอนเพลงยาว กลอนบทละคร และกลอนเสภาเริ่มเสื่อมความนิยมลง กลอนที่มีจำนวนคำเท่ากันทุกวรรคเพิ่มบทบาทมากขึ้น เนื่องด้วยเป็นกลอนอเนกประสงค์ ไม่จำกัดด้วยคำขึ้นต้น คำลงท้าย หรือการนำไปใช้
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) กวีมีการพัฒนากลอนหก กลอนเจ็ด รวมถึงรูปแบบกลอนเพลงชาวบ้านมาใช้ในวรรณกรรม ในยุคนี้เริ่มมีการใช้เครื่องหมายวรรคตอนมาใช้ในกลอน เพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึก หรือกำหนดจังหวะในการอ่าน
นอกจากนี้ กวียังเคร่งครัดการแต่งกลอนให้ลงจำนวนคำ จังหวะและสัมผัสตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดด้วย เช่นกลอนหก วรรคละ 6 คำ 3 จังหวะ (2-2-2) รับสัมผัสในคำที่ 2 หรือ กลอนแปด วรรคละ 8 ลำ 3 จังหวะ (3-2-3) รับสัมผัสคำที่ 3 ความนิยมดังกล่าวทำให้เกิดรูปแบบการแต่งกลอนโดยแบ่งเป็น 3 ตอน ในแต่ละวรรค เพื่อกำหนดจังหวะในการอ่าน ตัวอย่าง
แม่นวลโสม โฉมเฉิด เลิศมนุษย์
บริสุทธิ์ สงวนศักดิ์ น่ารักเหลือ

เป็นคู่ชีพ ของชาย หมายจุนเจือ
เพราะเลือดเนื้อ เชื้อโฉลก โลกมาตา
— "โลกมาตา" ของ ครูเทพ
พัฒนาการด้านกลวิธีในการแต่ง
จังหวะ
กลอนสมัยอยุธยา ไม่เคร่งครัดทั้งรูปแบบ จังหวะ และเสียงของถ้อยคำ ตัวอย่างเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา
จะกล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา
เป็นกรุงรัตนราชพระศาสดา
มหาดิเรกอันเลิศล้น

เป็นที่ปรากฏรจนา
สรรเสริญอยุธยาทุกแห่งหน
ทุกบุรียสีมามณฑล
จบสกลลูกค้าวานิช

ทุกประเทศสิบสองภาษา
ย่อมมาถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นอัคะนิด
ประชาราษฎร์ปราศจากไภยพิศม์
ทั้งความพิกลจริตและความทุกข์
กวีสมัยรัตนโกสินทร์ได้พัฒนากลวิธีการแต่งให้มีวรรคละ 3 จังหวะสม่ำเสมอ และบังคับตำแหน่งรับสัมผัสตำแหน่งที่แน่นอน ตัวอย่างจากนิราศพระบาทของสุนทรภู่
ประจวบจนสุริยนเย็นพยับ
ไม่ได้ศัพท์เซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์
มีระนาดฆ้องกลองประโคมดัง
ระฆังหงั่งหงั่งหง่างลงครางครึม

มโหรีปี่ไฉนจับใจแจ้ว
วิเวกแว่วกลองโยนตะโพนกระหึ่ม
ทุกที่ทับสัปปุรุษก็พูดพึม
รุกขาครึ้มครอบแสงพระจันทร

เสนาะเสียงเทศนาปุจฉาถาม
ในสนามเสียงสนั่นเนินสิงขร
เป็นวันบัณสีรวีวร
พระจันทรทรงกลดรจนา
การเลือกเสียงของถ้อยคำ
การเลือกเสียงของคำท้ายวรรค กวีในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการพัฒนาการเลือกเสีงคำลงท้ายวรรคเพื่อช่วยให้ลีลาของกลอนมีความไพเราะรื่นหูยิ่งขึ้น โดยในประชุมลำนำ ได้กล่าวถึงลักษณะบังคับเสียงท้ายวรรคของกลอนไว้ว่า ...มีบังคับไตรยางศในที่สุดของกลอนรับให้ใช้แต่อักษรสูง อย่าให้ใช้อักษรกลางแลอักษรต่ำที่เป็นสุภาพ ในที่สุดของกลอนรองแลกลอนส่งนั้นให้ใช้แต่อักษรกลางแลอักษรต่ำ นอกนั้นไม่บังคับ นอกจากนี้ยังอธิบายการใช้วรรณยุกต์ท้วยวรรคเพิ่มเติมว่า
กลอนที่วรรคส่ง ลงท้ายด้วยรูปวรรณยุกต์ เอกหรือโท เรียกว่า ระลอกทับ เช่น
เอาดวงดาราระยับกับพระจันทร์
ต่างช่อชั้นชวาลระย้าย้อย
กลอนที่วรรครับ หรือวรรครอง ลงท้ายด้วยวรรณยุกต์ เอกหรือโท เรียกว่า ระลอกฉลอง เช่น
จักจั่นหวั่นแว่วแจ้วแจ้วเสียง
เหมือนสำเนียงขับครวญหวนละห้อย
พระพายเอ๋ยเชยมาต้องพระน้องน้อย
เหมือนนางคอยหมอบกราบอยู่งานพัด
เสียงของคำในวรรค มีการเพิ่มความไพเราะด้วยการเลือกใช้สัมผัสสระ และสัมผัสอักษร ตลอดจนการใช้คำที่มีเสียงหนักเบา
กลวิธีอื่น ๆ ได้แก่ การซ้ำคำ (ยมก) การแยกคำข้ามวรรค (ยัติภังค์) การซ้ำพยัญชนะท้ายวรรคแรกกับต้นวรรคถัดไป (นิสสัย) การซ้ำพยัญชนะท้ายวรรคแรกกับคำที่สองของวรรคถัดไป (นิสสิต) การไม่ใช้สัมผัสเลือนหรือสัมผัสซ้ำ การกำหนดหลักเกณฑ์การใช้วรรณยุกต์เสียงท้ายวรรคต่าง ๆ ว่าท้ายวรรคสดับใช้ได้ทั้งห้าเสียง ท้ายวรรครับห้ามเสียงสามัญนิยมเสียงจัตวา ท้ายวรรครองห้ามเสียงจัตวานิยมใช้เสียงสามัญ เป็นต้น ทำให้กลอนกลายเป็นคำประพันธ์ที่มีฉันทลักษณ์ค่อนข้างตายตัว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น